April 27, 2024

ใช้น้ำเกลือล้างแผลแต่ละประเภทอย่างไรให้ถูกวิธี? ที่นี่มีคำตอบ

น้ำเกลือล้างแผล ถือเป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาทำความสะอาดแผลประเภทต่าง ๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน แถมยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ โดยการล้างแผลด้วยน้ำเกลือไม่ได้ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแสบร้อนแต่อย่างใด แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจในส่วนของการทำความสะอาดแผลน้ำเกลือให้ดี เพื่อให้ดูแลรักษาแผลของคุณหรือคนรอบข้างได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในวันนี้เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจการใช้น้ำเกลือล้างแผลประเภทต่าง ๆ ว่าแบบไหนคือวิธีที่ถูกที่ควร

วิธีทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล

แผลถลอก, แผลถูกของมีคมบาด, แผลจากการเจาะเพื่อสวมใส่เครื่องประดับ รวมถึงแผลอื่น ๆ ก็สามารถใช้น้ำเกลือล้างแผลได้เช่นเดียวกัน แต่แผลแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการใช้น้ำเกลือที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในวันนี้เราได้ยกตัวอย่างแผลมาทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

  1. แผลทั่วไป

แผลทั่วไปหรือแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายคนอาจจะคิดว่าแค่นำพลาสเตอร์ยามาปิดก็เพียงพอแล้ว แต่คุณรู้ไหมว่าการทำความสะอาดแผลหรือการป้องกันแผลจากสิ่งสกปรกที่ดีที่สุด ก็คือการล้างแผลด้วยน้ำเกลือก่อน โดยเรียงลำดับขั้นตอนดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้น้ำเกลือล้างแผลทุกครั้ง
  • หากทำแผลให้ผู้อื่น ผู้บาดเจ็บจะต้องอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนเท่านั้น
  • หากบาดแผลปนเปื้อนสิ่งสกปรก หรือสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ จำเป็นจะต้องล้างแผลก่อน ด้วยการใช้น้ำเหลือราดไหลผ่านบาดแผล ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย
  • หลังนั้นล้างแผลเรียบร้อยแล้ว ให้นำผ้าก็อซชุบน้ำเกลือหมาด ๆ และทาหรือเช็ดบริเวณรอบ ๆ บาดแผล
  • ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ยาที่ปลอดเชื้อ

หากปิดผ้าพันแผลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังพบว่ามีของเหลวต่าง ๆ ซึมออกมา ให้นำผ้าพันแผลชิ้นใหม่มาแปะทับลงไป พร้อมกับกดแผลค้างไว้อย่างเบามือ และในกรณีที่พบว่ามีสิ่งอื่น ๆ นอกจากผ้าพันแผลติดแน่นอยู่กับแผล ให้รีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันแผลระคายเคือง หรือเกิดการอักเสบหนักกว่าเดิม

  1. แผลจากการเจาะร่างกาย

แผลจากการเจาะร่างกาย เช่น เจาะหู, เจาะสะดือ หรือบริเวณอื่น ๆ จะใช้น้ำเกลือล้างแผลแบบเดียวกับแผลทั่วไป ตามวิธีการดังต่อไปนี้

  • ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือให้ชุ่ม แล้วนำไปประคบแผลที่เจาะจนกว่าน้ำเกลือจะซึมเข้าไปในแผล
  • หากน้ำเกลือยังซึมได้ไม่ดี ให้ทำแบบเดิมซ้ำ ๆ จนครบ 5 นาที หรือจนกว่าน้ำเกลือจะซึมเข้าแผล
  1. แผลผ่าตัด

สำหรับแผลผ่าตัดจะมีหลากหลายประเภท และจะมีความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งคุณจะต้องสอบถามการดูแลรักษาแผลผ่าตัดจากแพทย์หรือพยาบาลอย่างละเอียด ในส่วนของขั้นตอนการใช้น้ำเกลือล้างแผลผ่าตัดก็มีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดแผลทุกครั้ง
  • นำผ้าก๊อซเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ บาดแผลอย่างเบามือ
  • นำผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือจนชุ่ม และนำมาเช็ดบริเวณแผลเบา ๆ
  • เช็ดคราบเลือดแห้ง รวมถึงของเหลวอื่น ๆ ที่ปะปนอยู่ในบาดแผลออกให้หมด

แผลผ่าตัดเป็นแผลที่คุณควรดูแลรักษาอย่างดีที่สุด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ นอกจากทำความสะอาดอย่างถูกวิธีแล้ว อย่าคิดที่จะทายา ครีมบำรุงผิว หรือสมุนไพร ในขณะที่แผลยังไม่ปิดสนิทเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลถูกทำลาย หรือส่งผลให้แผลสมานตัวช้ากว่าเดิม

ข้อควรระวังในการใช้น้ำเกลือล้างแผล

สิ่งสำคัญที่สุดก่อนการใช้น้ำเกลือล้างแผลคือการจดวันที่ที่ได้ทำการเปิดขวดน้ำเกลือเสมอ รวมถึงปิดฝาน้ำเกลือให้สนิทเมื่อใช้เสร็จแล้วทุกครั้ง เนื่องจากแบคทีเรียอาจเกิดขึ้นได้หลังจากเปิดใช้ไปแล้ว และถ้าหากพบว่าบาดแผลมีอาการเจ็บ ปวด บวมแดง หรือมีน้ำหนองไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาเพิ่มเติมจะดีกว่า

ซึ่งการใช้น้ำเกลือล้างแผลตามขั้นตอนข้างต้น เป็นการดูแลรักษาบาดแผลขั้นเบื้องต้นเท่านั้น หากบาดแผลที่มีขนาดใหญ่ ลึก หรือเป็นแผลที่อยู่บริเวณหลอดเลือดแดง รวมถึงจุดสำคัญต่าง ๆ มีเลือดออกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคุณจะทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปแล้ว ประมาณ 15 – 20 นาที ให้หยุดทำการรักษาแผลด้วยตนเอง และนำตัวเองหรือผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป